วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2552

สายพันธุ์ปลาทอง

ปลาทองสายพันธุ์ต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ปลาทองมีความหลากหลายในสายพันธุ์ทำให้เป็นที่นิยมของนักเลี้ยงปลาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันมีสายพันธุ์ปลาทองมากกว่า 100 สายพันธุ์ การตั้งชื่อปลาทองแต่ละสายพันธุ์นั้นจะตั้งชื่อตามลักษณะลำตัวและลักษณะครีบ ซึ่งเราสามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 2 กลุ่มดังนี้ พวกที่มีลำตัวแบนยาว (Flat body type) ปลาในกลุ่มนี้ส่วนมาก มีลำตัวแบนข้างและมีครีบหางเดี่ยว ยกเว้นปลาทองวากิงซึ่งมีครีบหางคู่ ปลาในกลุ่มนี้จะว่ายน้ำได้ปราดเปรียวและรวดเร็ว เลี้ยงง่ายทนทานต่อสภาพแวดล้อม มีความแข็งแรงมากที่สุดในบรรดากลุ่มปลาทองทั้งหมด เจริญเติบโตเร็วเหมาะที่จะเลี้ยงในบ่อ สายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงได้แก่+ ปลาทองธรรมดา (Common goldfish) มีลักษณะเหมือนปลาทองที่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติมีสีส้ม เขียว ทอง และขาว มีจุดหรือลายสีดำ ลำตัวค่อนข้างยาว และแบนข้าง+ ปลาทองโคเมท (Comet goldfish) ปลาทองชนิดนี้พัฒนามาจาก Common goldfish มีครีบยาวเรียวออกไป โดยเฉพาะครีบหาง ซึ่งอาจจะมีความยาวมากกว่า เศษสามส่วนสี่ หรือหนึ่งเท่าของความยาวลำตัวทำให้ว่ายน้ำได้รวดเร็ว เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ลำตัวมีสีส้ม ขาวเงิน และเหลือง เป็นปลาที่ได้รับความนิยมมากในสหรัฐอเมริกา+ ปลาทองชูบุงกิง (Shubunkin) ปลาทองสายพันธุ์นี้คัดพันธุ์ได้ที่ประเทศญี่ปุ่น มีลำตัวเรียวยาวคล้ายปลาทองธรรมดา แต่มีครีบทุกครีบยาวใหญ่สมบูรณ์กว่าปลาทองพันธุ์ธรรมดามาก ปลายครีบหางมนกลม ลำตัวอาจมีสีแดง ส้ม ขาว ขาวและแดง หรืออาจมีหลายสี มี 2 สายพันธุ์ คือ londonshubunkin และ Bristol shubunkin สายพันธุ์ Bristol shubunkin จะมีครีบหางใหญ่กว่าชนิด London shubunkin+ ปลาทองวากิง (Wakin) ปลาทองพันธุ์นี้คัดพันธุ์ได้ที่ประเทศจีน ลำตัวมีสีแดงสดใส และสีขาวสายพันธุ์นี้จัดอยู่ในกลุ่มที่มีลำตัวแบนยาวแต่มีครีบหางเป็นคู่ พวกที่มีลำตัวกลมหรือรูปไข่ (Round หรือ egg-shaped body type) ปลาในกลุ่มนี้มีจำนวนมากแบ่งเป็นหลายสายพันธุ์ มีลักษณะครีบ หัวและนัยน์ตาที่แตกต่างกันหลากหลาย ซึ่งสามารถแบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้ 2 กลุ่ม โดยพิจารณาจากลักษณะครีบดังนี้ * พวกที่มีครีบหลัง มีลำตัวสั้น มีครีบยาวและครีบหางเป็นคู่ เช่น + ปลาทองริวกิ้น (Ryukin) เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงกันแพร่หลายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นเนื่องจากเป็นปลาที่มีรูปร่างและสีสันสวยงาม มีท่วงท่าการว่ายน้ำที่สง่างาม ลักษณะเด่น คือ ลำตัวด้านข้างกว้างและสั้น ส่วนท้องอ้วนกลม มองจากด้านหน้าโหนกหลังสูงขึ้นมากทำให้ส่วนหัวแลดูเล็กครีบหลังใหญ่ยาวและตั้งขึ้น ครีบหาง เว้าลึกยาวเป็นพวง ทำให้มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันอีกหลายชื่อ เช่นVeiltail และ fantail เป็นต้น เกล็ดหนา สีที่พบมากมีทั้งสีแดง ขาว ขาว-แดง และส้ม หรือมีห้าสี คือ แดง ส้ม ดำ ขาว ฟ้า ซึ่งในบ้าน เรานิยมเรียกว่า ริวกิ้นห้าสี + ปลาทองออแรนดา (Oranda) ปลาพันธุ์นี้เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์หัวสิงห์และพันธุ์ริวกิ้น อาจเรียกว่า Fantail lionhead ปลาทองพันธุ์ออแรนดา (Oranda) จะมีลักษณะลำตัวค่อนข้างยาวกว่าปลาทองพันธุ์หัวสิงห์และริวกิ้น ลำตัวคล้ายรูปไข่หรือรูปรี ส่วนท้องไม่ป่องมาก ครีบทุกครีบยาวใหญ่โดยเฉพาะครีบหางจะยาวแผ่ห้อยสวยงามมาก ปลาทองพันธุ์นี้แบ่งเป็นพันธุ์ย่อย ๆ ได้อีก ตามลักษณะหัวและสีได้แก่
+ ออแรนดาธรรมดา มีลำตัวค่อนข้างยาวรี หัวไม่มีวุ้น ครีบทุกครีบยาวมาก+ ออแรนดาหัววุ้น ลำตัวและหางไม่ยาวเท่าออแรนดาธรรมดา แต่บริเวณหัวจะมีวุ้นคลุมอยู่คล้ายกับหัวปลาทองพันธุ์หัวสิงห์แต่วุ้นจะไม่ปกคลุมส่วนของหัวทั้งหมด จะมีวุ้นเฉพาะตรงกลางของส่วนหัวเท่านั้น และวุ้นที่ดีจะต้องมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมเมื่อมองจากด้านบน+ ออแรนดาหัวแดง (Red cap oranda) คือ ออแรนดาหัววุ้นนั่นเองแต่จะมีวุ้นบนหัวเป็นสีแดง และลำตัวมีสีขาวภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ตันโจ มีลักษณะลำตัวสีขาวเงิน วุ้นบนหัวเป็นก้อนกลมสีแดง คล้ายปลาสวมหมวกสีแดง+ ออแรนดาห้าสี (Calico oranda) ลักษณะเหมือนออแรนดาหัววุ้นทั่วไป แต่มีสีลำตัว 5 สี คือ ฟ้า ดำ ขาว แดง ส้ม+ ออแรนดาหางพวง (Vailtail) ลักษณะครีบหางจะยาวเป็นพวง ครีบหลังพริ้วยาว ที่หัวมีวุ้นน้อยหรือไม่มีเลย ส่วนของลำตัวใหญ่สั้น ท้องกลม แต่ส่วนหลังแบนข้างเล็กน้อย บริเวณโหนกหลังสูงชันมาก ทำให้ส่วนหัวดูแหลมเล็ก ครีบหลังใหญ่ยาวและตั้งสูง ครีบหางเว้าลึกเป็นพวง + ปลาทองเกล็ดแก้ว (Pearl scales goldfish) ปลาทองพันธุ์เกล็ดแก้ว มีลำตัวอ้วนกลมสั้น ส่วนท้องป่องออกมาทั้ง 2 ด้าน เมื่อมองด้านบนจะเห็นเป็นรูปทรงกลม หัวมีขนาดเล็ก ปากแหลม มีลักษณะเด่นที่เกล็ดคือ เกล็ดหนามาก และนูนขึ้นมาเห็นเป็นเม็ดกลม ๆ ซึ่งเกิดจากเกล็ดที่มีสารพวกกัวอานิน (guanine) มากนั่นเอง ลักษณะเกล็ดที่ดีต้องขึ้นครบนูนสม่ำเสมอและเรียงกันอย่างมีระเบียบ ครีบทุกครีบรวมทั้งหางสั้นและต้องกางแผ่ออกไม่หุบเข้าหรืองอ สีที่นิยมได้แก่ สีแดง ส้ม เหลือง ดำ ขาว ขาวแดง ปลาชนิดนี้เลี้ยงยาก ปลาทองเกล็ดแก้วที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยมี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เกล็ดแก้ว หัวมงกุฎ เกล็ดแก้วหน้าหนู และเกล็ดแก้วหัววุ้น + ปลาทองตาโปน (Telescope eyes goldfish) มีลักษณะลำตัวสั้น และส่วนท้องกลมคล้าย ๆ กับพันธุ์ริวกิ้น มีลักษณะเด่นที่ตาทั้งสองข้าง โดยตาจะยื่นโปนออกมาด้านข้างเห็นได้เด่นชัด ถือกันว่าตายิ่งโปนมากยิ่งเป็นลักษณะที่ดี และเมื่อมองจากด้านบนจะต้องมีลักษณะกลมยื่นออกมาเท่ากันทั้งตาซ้ายและตาขวา ครีบทุกครีบและหางจะต้องแผ่กว้าง ปลายไม่หุบเข้า หรืองอไปทางด้านใดด้านหนึ่ง ครีบที่เป็นครีบคู่จะต้องเท่ากันและชี้ไปในทิศทางเดียวกัน (ขนานกัน) ปลาทองพันธุ์นี้ยังแบ่งออกเป็นพันธุ์ย่อย ๆ ได้อีกตามลักษณะสีบนลำตัวและครีบ ได้แก่+ ปลาทองตาโปนสีแดง หรือขาวแดง (Red telescope-eyes goldfish) ลำตัวและครีบจะต้องมีสีแดงเข้ม หรืออาจมีสีขาวสลับสีแดง และสีขาวจะต้องขาวบริสุทธิ์ไม่อมเหลือง จึงจะถือว่าเป็นลักษณะที่ดี+ ปลาทองตาโปน 3 สี หรือ 5 สี (Calico telescope-eyes goldfish) ลำตัวและครีบมีหลายสีในปลาตัวเดียวกัน + ปลาทองพันธุ์เล่ห์ (Black telescope-eyes goldfish หรือ Black moor) ซึ่งได้แก่ ปลาทองที่เรียกว่า รักเล่ห์ หรือเล่ห์นั่นเอง ลักษณะที่ดีของปลาพันธุ์นี้คือ ลำตัวและครีบจะต้องดำสนิทและไม่เปลี่ยนสีไปจนตลอดชีวิต + ปลาทองแพนด้า (Panda) ปลาทองสายพันธุ์นี้นิยมมากในประเทศจีน เป็นปลาทองพันธุ์เล่ห์ที่ได้มีการลอกสีที่ลำตัวจนกลายเป็นสีขาวหรือสีเงิน ส่วนครีบต่าง ๆ จะมีสีดำมีลักษณะคล้ายหมีแพนด้า ซึ่งสายพันธุ์นี้จะมีลักษณะไม่คงที่เพราะมีการลอกสีไปเรื่อย ๆ + ปลาทองปอมปอน (Pompon) ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศแรกที่เพาะพันธุ์ได้ มีลักษณะลำตัวสั้น มองจากด้านบนจะมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมคล้ายปลาทองหัวสิงห์แต่แตกต่างกันตรงส่วนหัว โดยผนังกั้นจมูกของปลาทองปอมปอนจะขยายเจริญเติบโตออกมาข้างนอกเป็นพู่ 2 ข้างทำให้แลดูแปลกตาออกไป มีช่วงลำตัวยาวและเพรียวกว่าปลาทองหัวสิงห์สายพันธุ์อื่น ๆ ปลาทองปอมปอนที่นิยมมากที่สุดคือพันธุ์สีแดงไม่มีครีบหลัง สายพันธุ์ปอมปอนแบ่งออกเป็นปอมปอนหัวสิงห์ ปอมปอนออแรนดา ปลาทองสายพันธุ์นี้บ้านเราไม่ค่อยได้รับความนิยมแพร่หลายมากเท่าใดนัก สาเหตุอาจเป็นเพราะปลาสายพันธุ์นี้โดยมากมีทรวดทรงที่ไม่สวยงามเท่าปลาทองหัวสิงห์สายพันธุ์อื่นขณะเดียวกันเป็นปลาที่แพร่พันธุ์ได้ยาก และปลาที่เพาะพันธุ์ได้โดยมากเป็นปลาพิการเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงทำให้ปลาชนิดนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในหมู่นักเพาะพันธุ์ปลาระดับมืออาชีพ เนื่องจากเพาะแล้วไม่ค่อยคุ้ม * พวกที่ไม่มีครีบหลัง มีรูปร่างกลมและไม่มีครีบหลังปลาทองในกลุ่มนี้จะว่ายน้ำได้ไม่ดี เทียบเท่ากับกลุ่มที่มีครีบหลังได้แก่ + ปลาทองหัวสิงห์จีน (Chinese lion head) จีนเป็นประเทศแรกที่เพาะพันธุ์ปลาทองสายพันธุ์นี้ ชาวตะวันตกเรียกปลาทองสายพันธุ์นี้ว่าLionhead ในประเทศไทยเรียกว่า ปลาทองหัวสิงห์จีน (Chinese lionhead) ลักษณะโดยทั่วไปจะมองคล้ายสิงห์ญี่ปุ่นแต่ลำตัวค่อนข้างยาวไม่สั้นกลมอย่างสิงห์ญี่ปุ่น และส่วนหลังก็จะโค้งน้อยกว่าสิงห์ญี่ปุ่น หางใหญ่ยาวกว่าวุ้นบนหัวจะมีมากกว่าสิงห์ญี่ปุ่น วุ้นขึ้นปกคลุมส่วนหัวทั้งหมดและวุ้นที่ดีจะต้องมีลักษณะเป็นเม็ดละเอียด สีลำตัวและครีบ มักจะมีสีอ่อนกว่าสิงห์ญี่ปุ่น เมื่อโตเต็มที่มีขนาดเฉลี่ยประมาณ 15 เซนติเมตร แต่ก็เคยพบบางตัวมีขนาดใหญ่ถึง 25 เซนติเมตร อายุเฉลี่ยประมาณ 5-7 ปี + ปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่น (Ranchu หรือ Japanese lion head) เป็นปลาทองที่คัดพันธุ์ได้ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นเรียก Ranchu เป็นปลาทองพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ในบรรดาปลาทองหัวสิงห์ ทั้งหมด ราคาค่อนข้างสูง ลักษณะที่ดีของปลาทองพันธุ์นี้คือ ลำตัวสั้นค่อนข้างกลม ถ้ามองจากด้านบนท้องทั้งสองด้านจะต้องป่องออกเท่ากัน สันหลังโค้งเรียบเป็นรูปไข่ ไม่มีรอยหยักขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่มีครีบหลัง ครีบทุกครีบสั้น ครีบคู่ทุกครีบต้องมีขนาดเท่ากัน และอยู่ในทิศทางเดียวกัน (ขนานกัน) ครีบหางสั้นและตั้งแข็งแผ่กว้าง วุ้นจะต้องขึ้นทั่วทั้งหัว เช่น บริเวณรอบปาก รอบดวงตาและใต้คาง โดยเฉพาะวุ้นใต้คางควรจะมีมากเป็นพิเศษจนมองดูจากด้านบนหัวจะมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ขณะว่ายน้ำต้องทรงตัวได้ดีและว่ายน้ำในลักษณะหัวก้มต่ำเล็กน้อย สีของปลาทองพันธุ์นี้มีหลายสี เช่น แดง แดงและขาว ส้ม ดำ ขาว และห้าสี สีแดงเป็นสีที่ได้รับความนิยมมาก ปลาชนิดนี้ค่อนข้างอ่อนแอเลี้ยงยาก เนื่องจากการผสมเลือดชิด (inbreed) ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 20-25 เซนติเมตร + ปลาทองหัวสิงห์ลูกผสม (Hybrid lionhead, Ranchu x Chinese lionhead) ปลาทองสายพันธุ์นี้เป็นลูกผสมเพาะพันธุ์ได้ในประเทศไทย ซึ่งนำจุดเด่นของปลาทองหัวสิงห์จีนและสิงห์ญี่ปุ่นมารวมกันไว้ในปลาตัวเดียวกัน สาเหตุของการผสมข้ามพันธุ์ เนื่องมาจากปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่น จะผสมพันธุ์ได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นการนำปลาทองหัวสิงห์จีนมาผสมด้วยจะช่วยให้ปลาแพร่พันธุ์ได้ง่ายและได้จำนวนลูกปลาเพิ่มมากขึ้น ลักษณะเด่นของปลาทองหัวสิงห์ลูกผสมคือ วุ้นบนหัวของปลาจะมีขนาดปานกลาง ไม่ใหญ่เท่าปลาทองหัวสิงห์จีน แต่ใหญ่กว่าปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่น หลังโค้งมนมากกว่าปลาทองหัวสิงห์จีน แต่ไม่โค้งและสั้นเท่าปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่น ครีบหางสั้นกว่าปลาทองหัวสิงห์จีน แต่จะยาวกว่าปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่น + ปลาทองพันธุ์สิงห์ตามิดหรือสิงห์สยาม (Siamese lionhead) เป็นปลาที่คัดพันธุ์ได้ในประเทศไทย ลักษณะลำตัวทั่ว ๆ ไปคล้ายสิงห์ญี่ปุ่นแต่หัวมีวุ้นมากกว่า วุ้นจะขึ้นคลุมทุก ๆ ส่วนบนหัวแม้กระทั่งส่วนของตาจะมองไม่เห็นเลยจึงทำให้ได้ชื่อว่าสิงห์ตามิดครีบหางมีขนาดใหญ่กว่าสิงห์ญี่ปุ่นเล็กน้อย ทุกส่วนของลำตัวต้องดำสนิท + ปลาทองพันธุ์ตากลับ (Celestial goldfish) ปลาทองพันธุ์หัวสิงห์ตากลับ เป็นปลาทองที่มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน ชาวจีนเรียกว่าโชเตนงัน(Chotengan) ซึ่งมีความหมายว่า ปลาตาดูฟ้าดูดาว หรือตามุ่งสวรรค์ ญี่ปุ่นเรียกปลาชนิดนี้ว่าเดเมรันชู (Deme- ranchu) ลักษณะเด่นคือ มีตาหงายกลับขึ้นข้างบน ผิดจากปลาทองชนิดอื่น ๆตาใหญ่สดใสทั้งสองข้าง ส่วนหัวไม่มีวุ้นหรือมีเคลือบเล็กน้อย ไม่มีครีบหลัง ลำตัวยาว หลังตรงหรือโค้งลาดเล็กน้อย ครีบหางยาว + ปลาทองพันธุ์ตาลูกโป่ง (Bubble eyes goldfish) มีลักษณะลำตัวคล้ายพันธุ์หัวสิงห์แต่ค่อนข้างยาวกว่า ไม่มีครีบหลัง ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้คือบริเวณใต้ตาจะมีถุงโป่งออกมาลักษณะคล้ายลูกโป่ง และถือกันว่าถุงลูกโป่งยิ่งมีขนาดใหญ่ยิ่งเป็นลักษณะที่ดี และถุงทั้งสองข้างจะต้องมีขนาดเท่ากัน ปลาพันธุ์นี้ที่พบมากมีสีแดง ส้ม หรือสีผสมระหว่างสีแดงและสีขาว หรือส้มและขาว จัดเป็นปลาที่เลี้ยงยากและเพาะพันธุ์ได้ยาก ขนาดโตเต็มที่ยาวประมาณ 20-25 เซนติเมตร

ไม่มีความคิดเห็น: