วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2552

ปลาแรด

ปลาแรด ปลาน้ำจืดจำพวกหนึ่ง ที่อยู่ในวงศ์ Osphroneminae ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 1 สกุล (Genus) 4 ชนิด (Species) มีลักษณะร่วมกันคือ ลำตัวป้อมและแบนข้าง เกล็ดสากมือเป็นรูปหยัก มีก้านครีบท้องคู่แรกเป็นเส้นเรียวยาวคล้ายหนวด ใช้สำหรับสัมผัส ปลายหางมนกลม ปากแหลม ริมฝีปากหนา ภายในปากมีฟันซี่เล็ก ๆ แหลมคมเรียงอยู่ภายใน ส่วนหัวเล็กและป้าน เมื่อโตขึ้นมาโดยเฉพาะในปลาตัวผู้จะมีโหนกนูนขึ้นมาเรื่อย ๆ จนดูคล้ายนอแรด อันเป็นที่มาของชื่อ โคนหางมีจุดสีดำคล้ำอยู่ทั้ง 2 ข้าง เมื่อโตขึ้นจุดดังกล่าวจะหายไป
เป็นปลาที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ แต่จะกินพืชเป็นอาหารหลัก นิสัยก้าวร้าวพอสมควร และเป็นปลาที่มีความสามารถพิเศษคือ สามารถฮุบอากาศจากผิวน้ำได้โดยตรง เนื่องจากมีอวัยวะพิเศษที่อยู่ในช่องเหงือกช่วยในการหายใจ อีกทั้งยังสามารถเก็บความชื้นไว้ได้เมื่อถูกจับพ้นน้ำ มีขนาดโตเต็มที่ราว 90 เซนติเมตร นับว่าเป็นปลาในวงศ์ปลากัด ปลากระดี่ (Osphronemidae) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
พบกระจายอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่ และที่เป็นหมู่เกาะ ชอบอาศัยในแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหลเอื่อย ๆ มีพืชน้ำขึ้นรก มีทั้งหมด 4 ชนิด คือ

[แก้] ชนิดพันธุ์
ปลาแรด (Osphronemus goramy) มีชื่อเรียกในภาษาอีสานว่า "เม่น" และภาษาใต้ว่า "มิน" เป็นปลาแรดชนิดที่เป็นที่รู้จักดีที่สุดและพบแพร่กระจายอย่างกว้างขวางที่สุด นิยมเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจและปลาสวยงาม โดยเฉพาะในประเทศไทย เช่นที่ แม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี นิยมเพาะเลี้ยงในกระชังในแม่น้ำ ปลาที่กลายเป็นสีเผือก (Albino) นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
ปลาแรดแม่น้ำโขง หรือ ปลาแรดเขี้ยว (Osphronemus exodon) มีรูปร่างคล้ายปลาแรดชนิดแรก แต่พบเฉพาะในแม่น้ำโขงที่เดียวเท่านั้น มีความแตกต่างคือ มีลำตัวสีน้ำตาลแดงคล้ำ ครีบก้นแคบและเล็กกว่า และริมผีปากจะไม่สามารถสบกันจนสนิท จนเผยอให้เห็นซี่ฟันในปาก อันเป็นที่มาของชื่อ จัดเป็นปลาที่หาได้ยาก
ปลาแรดแดง (Osphronemus laticlavius) พบในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย มีรูปร่างคล้ายปลาแรดสองชนิดข้างต้น แต่มีลำตัวสีแดงสด ยิ่งเมื่อปลาโตขึ้นเท่าไหร่ สีดังกล่าวจะยิ่งเข้มตามด้วย จึงนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่ปลาแรดแดงจะมีการเจริญเติบโตช้ากว่า และขนาดเมื่อโตเต็มที่จัดว่าเป็นปลาแรดชนิดที่เล็กที่สุดด้วย กล่าวคือมีขนาดประมาณ 50 เซนติเมตร
ปลาแรดสามขีด (Osphronemus septemfasciatus) พบในประเทศมาเลเซีย มีลักษณะเด่นคือ มีขีดกลางลำตัว 3 ขีด เป็นปลาแรดชนิดที่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ ขนาดเมื่อโตเต็มที่เท่ากับปลาแรดแดง

[แก้] การขยายพันธุ์
ปลาแรดจะสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี โดยจะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 3 ปี ปลาตัวผู้จะมีโหนกบนหัวสูงกว่า ตัวเมียจะมีท่อนำไข่เป็นจุดสีขาวเห็นได้ชัดเจน บริเวณใต้ครีบอก ปลาแรดจะมีพฤติกรรมการสร้างรังคล้ายกับรังนก โดยใช้หญ้า หรือวัสดุจำพวกพืชน้ำชนิดต่าง ๆ มาสานทอเป็นรังลักษณะกลมคล้ายตะกร้า โดยใช้โคลนเป็นตัวประสานให้ติดเข้าด้วยกัน และวางไข่ไว้ตรงกลางรัง การขวางไข่จะวางได้ครั้งละ 800-1,000 ฟอง ไข่จะฟักเป็นตัวในเวลา 3-5 วัน

ไม่มีความคิดเห็น: